วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ความหมายวิทยาศาสตร์

  ความหมาย วิทยาศาสตร์


ความหมายของวิทยาศาสตร์ 
 วิทยาศาสตร์ (Science) มาจากภาษาลาตินว่า “Scientia” แปลว่า “ความรู้ทั่วไป” ซึ่งเป็นความหมายที่กว้างมากที่ใช้ในอดีต (สุนันท์ บุราณรมย์ และคณะ, 2542 : 2-3) เนื่องจากในอดีตยังไม่มีการค้นพบความรู้มากมายเหมือนในปัจจุบัน  ดังนั้น วิทยาศาสตร์จึงมีความหมายในลักษณะที่ครอบคลุมความรู้ทั้งหมดของมนุษย์  ต่อมาเมื่อมนุษย์มีการค้นพบความรู้มากขึ้นและได้พิสูจน์ความรู้ต่างๆ  สิ่งใดเป็นจริงจะได้รับการยอมรับ ส่วนสิ่งใดไม่จริงก็จะถูกปฏิเสธ  ทำให้ความหมายของคำว่าวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งความหมายของคำว่า วิทยาศาสตร์ ในปัจจุบันมีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่าน เช่น ภพ เลาหไพบูลย์ (2540: 2)  ได้สรุปความหมายของวิทยาศาสตร์ว่า “วิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่สืบค้นหาความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเจตคติทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปสุนันท์ บุราณรมย์ และคณะ (2542 : 2-3) ได้ให้ความหมายไว้ว่า วิทยาศาสตร์ หมายถึง ความรู้ที่แสดงหรือพิสูจน์ได้ว่าถูกต้อง เป็นความจริง ซึ่งความรู้ดังกล่าวได้มาจากการศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือจากการทดลอง โดยเริ่มต้นจากการสังเกต การตั้งสมมติฐาน การทดลองอย่างมีแบบแผน แล้วจึงสรุปเป็นทฤษฏีหรือกฎขึ้น แล้วนำแล้วนำทฤษฏีหรือกฎที่ได้ไปใช้ศึกษาหาความรู้ต่อไปเรื่อยๆ 
 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542 : 1075) ได้ให้ความหมายว่า“วิทยาศาสตร์  คือ ความรู้ที่ได้โดยการสังเกต และค้นคว้าจากปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ, วิชาที่ค้นคว้าได้หลักฐานและเหตุผลแล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ” 
 โดยสรุป “วิทยาศาสตร์ หมายถึง ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งสามารถแสดงหรือพิสูจน์ได้ว่าถูกต้อง และเป็นความจริง โดยใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ ทางวิทยาศาสตร์ แล้วจัดความรู้นั้นเข้าเป็นระเบียบ เป็นหมวดหมู่

              
จากการนิยาม เมื่อพิจารณาจะพบว่าในความหมายของวิทยาศาสตร์นั้นมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ
1. ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากธรรมชาติ โดยวิธีการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แบ่งได้เป็น 6 ระดับ ได้แก่ ข้อเท็จจริง ความคิดรวบยอดหรือมโนมติ สมมติฐาน หลักการ ทฤษฏี กฎ (รายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ 1.2.2)
2. กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Process) หมายถึง กระบวนการที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถค้นหาความรู้จากธรรมชาติได้อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย 
 1) วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) 
  2) ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Skill) 
  3) เจตคติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Attitude) (รายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ 1.2.3) 
3. สาขาของวิทยาศาสตร์ เป็นการจัดแบ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีลักษณะเรื่องราวที่เหมือนกันเข้าอยู่ในกลุ่มเดียวกันให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อมีระบบระเบียบให้ง่ายต่อการค้นหา เปรียบได้กับถ้าเราจะค้นหาหนังสือสักเล่มในห้องสมุดขนาดใหญ่ที่วางหนังสือไม่เป็นระเบียบ เราคงเสียเวลาในการค้นหาหนังสือเป็นเวลานานและอาจหาหนังสือที่ต้องการไม่เจอ เพราะไม่รู้ว่าหนังสือถูกเก็บไว้ที่ใดจึงต้องตรวจหาหนังสือในห้องสมุดทีละเล่ม ซึ่งแตกต่างจากการหาหนังสือเล่มเดียวกันนี้ที่จัดไว้ในห้องสมุดที่มีการจัดระบบไว้เป็นอย่างดีสามารถค้นหาได้ง่าย ดังนั้น การจัดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่อย่างมากมายให้เป็นระบบจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง (รายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ 1.2.1)



การค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในปรากฏการณ์ธรรมชาติของนักวิทยาศาสตร์ มักเริ่มจากคำถามหลักอยู่ 3 คำถาม คือ 

1. What คำถาม “อะไร” เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลจากการสังเกตสภาพจริงของวัตถุหรือปรากฏการณ์นั้นๆ และมีการบันทึกไว้อย่างถูกต้อง เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เป็นความรู้ต่อไป 
2. How คำถาม “อย่างไร” เป็นคำถามที่ใช้ถามการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดก่อน-หลัง แล้วหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ และหาสมมติฐานในการตอบปัญหา เพื่อค้นคว้าหาตอบ ที่จะออกมาเป็นความรู้วิทยาศาสตร์ต่อไป 
3. Why คำถาม “ทำไม” เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ใช้อธิบายเหตุผลของการเกิด ของปรากฏการณ์ใดๆ ว่าทำไมเป็นเช่นนั้น

แหล่งที่มาข้อมูล https://www.gotoknow.org/posts/535143

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น